วันพุธที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

หนังประทับใจปี 2551

ปีนี้ก็เป็นอีกปีนะครับ ที่ผมเองรู้สึกว่าตัวเองได้ดูหนังน้อยกว่าที่เคย(ตลอดทั้งปี ผมดูหนังที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์นะครับ ทั้งหมด 85 เรื่อง พอดิบพอดี) น่าแปลกที่ปีนี้ ผมเองรู้สึกว่า หนังส่วนใหญ่มีแต่อะไรก็ไม่รู้ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ผมเองชื่นชอบหนังมากมายนะครับ อย่างหนังตลอกเรื่อง enchanted หรือการ์ตูนอย่าง Wall-E แม้กระทั่งหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Iron Man หรือ The Dark Knight แต่เมื่อผมเลือกได้แค่เพียง 5 เรื่อง ก็ต้องคัดแล้วคัดอีก จนกระทั่งได้ภาพยนตร์ที่ผมชื่นชอบตลอดปี 2552 นะครับ ขอเรียงตามตัวอักษร ไม่เรียงตามคะแนนความชอบล่ะกันนะครับ ส่วนใหญ่ก็คะแนน(ของตัวเอง)เท่าๆกันนะครับ


Atonement
ผมชอบเสียงดนตรีกับเสียงพิมพ์ดีดเรื่องนี้เป็นพิเศษ มันยังก้องอยู่ในหัวนานสองนาน เมื่อดูหนังจบ เสียงพิมพ์ดีดในตอนต้นคือสิ่งที่มีความหมายเอามากๆเมื่อถึงฉากจบของหนัง หนังเล่าเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่เข้าใจผิด กล่าวหาว่าพี่สาวของเธอกับลูกชายแม่บ้านประจำคฤหาสถ์มีอะไรเกินเลยกว่าแค่คู่รัก ด้วยการใส่จินตนาการ เสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวจนกระทั่งคู่รักต้องพลัดพรากและได้เปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ไปตลอดการ...หนังทำให้เรารู้ว่า จินตนาการและเรื่องราวที่บิดเบือน สามารถนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ หนังเจ็บช้ำเมื่อพาเราเข้าสู่จุดไคลแมกซ์ในตอนท้าย สำหรับบางคนการไถ่บาปที่ตนเองได้ก่อ หาได้ซึมลึกเข้าสู้จิตสำนึกไม่ เมื่อคำตอบที่แสนเย็นชาปรากฏชัด จะมีอะไรน่าชิงชังไปกว่านี้ได้อีก


Happy Go Lucky
หนังระรื่นไปด้วยรอยยิ้มอันสดใสของป๊อปปี้ สาววัยไม่ใส แต่มีหัวใจมองโลกด้านบวกของเธอ ทำให้เราอดยิ้มร่วมไปกับสถานการณ์ที่เธอต้องเจอไม่ได้ ทั้งการเรียนเต้นฟลามิงโก้(ฉากหัวเราะอันสุดยอด) การเรียนขับรถ การเยี่ยมน้องสาวท้องโต รวมไปถึงการใช้ชีวิตเป็นครูสอนหนังสือชั้นประถม หากป๊อปปี้คือคนที่โอบอุ้มโลกไว้ด้วยใจเปี่ยมสุข สก๊อต...ครูสอนขับรถของเธอก็คือตัวละครที่ตรงข้ามกับป๊อปปี้แทบทุกอย่าง เขากักขฬะ มองโลกในแง่ถดถอย มืดมน ตั้งคำถามด้านลบให้กับตัวเอง เย้ยหยันสิ่งรอบตัว ราวกับว่า โลกสว่างเกินไป ทำให้มันมืดเสียบ้างน่าจะดี หนังสร้างรอยยิ้มเป็นระยะ ฉากที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน เป็นฉากที่เราไม่อาจละสายตาได้ มันเป็นการปะทะกันระหว่างความดีงามและความเลวร้าย ผ่านความหยอกเย้าของฝ่ายแรกและความน่ากลัวของฝ่ายหลัง ต้องยกความดีความชอบให้กับสองนักแสดงนำ เซลลี่ ฮอค์กินส์กับเอ๊ดดี้ มาแซน ผู้เล่นได้อย่างน่ารังเกียจและน่าสงสารเอามากๆเมื่อถึงฉากปะทะอารมณ์ของทั้งสอง มันทำให้เราฉุกคิดว่า สิ่งที่เราเห็นเพราะ"เธอ"เป็นเช่นนั้นหรือเพราะ"เธอ"ต้องทำ เพื่อโลกในอุดมคติกันแน่ และสุดท้าย บนโลกที่เริ่มเน่าๆใบนี้ คนอย่างป๊อปปี้ช่างหาได้ยาก ยิ่งกว่าเข็มในมหาสมุทรเสียอีก


No Country For Old Men
ในขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ จู่ๆความกลัวก็บังเกิดอย่างไม่น่าเชื่อตัวเอง ผมเองได้ดูหนังของพี่น้องโคนแทบจะนับเรื่องได้เลยทีเดียว แต่สำหรับเรื่องนี้ มันทรงพลังมากจนบางครั้งผมเองรู้สึกว่าโลกนี้ มันน่ากลัวใช่ย่อย หนังนำเงินมาเป็นตัวแปรในตอนแรก แต่สุดท้าย มันกลับกลายเป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดที่เราควรไขว้คว้าไว้ ชิวิตของชายนักล่าสัตว์ที่พบเงินและนำไปเก็บไว้ โดยมีภรรยารู้เห็นและนายอำเภอที่ตามล่าฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างเลือดเย็นด้วยปืนอัดแก๊ส เรื่องราววนเวียนอยู่ในการพิสูจน์ตัวตนของแต่ละคน เมื่อชายล่าสัตว์ทำทุกวิถีทางให้ได้เงินไว้ นายอำเภอใกล้เกษียณต้องการพิสูจน์ตัวเองด้วยการจับผู้ร้าย และฆาตกรที่ไม่ยี่หระต่อชีวิตมนุษย์ตามติดเป้าหมายอย่างถึงที่สุด มันเป็นการพิสูจน์ถึงความอยู่รอด ถึงคุณค่าของมนุษย์ หนังสร้างตัวละครที่น่าสะพรึงมากที่สุดตัวหนึ่ง "แอนตัน ไชการ์"(ฮาเวียร์ บาเด็ม)หนังแทนที่ความโฉดชั่วของมนุษย์ด้วยตัวละครอย่างแอนตัน เมื่อความโลภ ความขาดสำนึกพาเราจมดิ่งสู่ความเลวร้าย ตัวละครอย่างแอนตันก็พร้อมจะพิพากษามนุษย์อย่างเราเรื่อยไป


Once
หนังแฮนด์เฮลเรื่องนี้มีภาพที่หยาบกระด้างแต่ให้ความรู้สึกเปี่ยมสุข มันเหมือนจริงเอามากๆด้วย หนังเริ่มต้นเมื่อThe guy และThe girlมาพบกัน ขณะที่ฝ่ายชายเล่นดนตรีข้างถนน จนกระทั่งพวกเขาตั้งวงดนตรีเล็กๆและได้อัดแผ่นเสียงในที่สุด หนังเรียบง่ายและละมุนละไม ดนตรีที่บรรเลงในตอนต้นเรื่อง กลับค่อยๆถูกเติมเต็มมากขึ้นเมื่อพวกเขาใกล้ชิดกัน หลายครั้งความรู้สึกของตัวละครถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง ฉากที่ผมชอบที่สุดคือฉากหญิงสาวร้องเพลง the hill พร้อมนัยน์ตาที่ระรื่นไปด้วยน้ำตา โดยมีฝ่ายชายแอบมองอยู่ใกล้ๆ มันบาดลึกจนกระทั่งเราเองก็รู้สึกว่า การแบกชีวิตเพียงลำพังช่างโหดร้ายเหลือแสน หนังไม่ได้จบลงด้วย"แล้วทั้งคู่ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข"(เนื่องจากเหตุผลของฝ่ายหญิงที่เราเองก็ยอมรับว่าคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว)แต่มันทำให้เรารับรู้ได้ถึงความสุข ความฝัน และชีวิตที่ถูกเติมเต็ม เมื่อ"ครั้งหนึ่ง" บทเพลงที่ขาดหายกลับถูกเติมเต็มด้วยเสียงร้องและท่วงทำนอง หนังนำเพลง falling slowly มาใช้อีกครั้งในช่วงท้าย มันอธิบายทุกๆเหตุการณ์ ทุกๆความรู้สึกได้อย่างเหมาะเจาะและซาบซึ้งอย่างมาก น่าแปลกที่เราไม่รู้จักชื่อเขาและเธอเลยตลอดทั้งเรื่อง แต่เรากลับรู้สึกผูกพันและหลงรักพวกเขาอย่างหมดใจ



The Mist
หากได้ดูหนัง No country for old men ตามด้วย There will be blood และจบด้วย The mist แล้วรู้สึกว่า ชีวิตนี้ช่างน่าหัวเราะ มีความสุขยิ่งนัก ผมแนะนำให้คุณรีบไปปรึกษาหมอทางจิตโดยด่วนเลยนะครับ(เพื่อนผมบอกว่า หากดู 3 เรื่องนี้ต่อกัน การฆ่าตัวตายน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด!) แม้ว่าหนังสองเรื่องแรกจะพาเราไปสำรวจความโหดเหี้ยม ความแล้งไร้สติและสำนึกของมนุษย์ในมุมมองที่ชวนหดหู่ (there will be blood กล่าวถึงชายผู้ขุดเจาะน้ำมันและทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มันมา เมื่อน้ำมัน = เงินตรา และถูกขบถด้วยบาทหลวงผู้ลวงโลก...เลวร้ายได้อีก) ในขณะที่เรื่อง The mist พาเราไปสำรวจจิตใจของมนุษย์เมื่อต้องเผชิญกับภาวะคับขันและจนตรอก บางคนอ่อนแอขาดที่พึ่งพิง บางคนสถาปนาตัวเองเพื่ออำนาจ บางคนขลาดเขลา และในขณะที่บางคนพ่ายแพ้ต่อความสิ้นหวัง หนังสนุกเมื่ออยู่ในโลกของการต่อสู้กับสัตว์ประหลาด แต่มันแทบกลายเป็นง่อยไปเลย เมื่อเทียบกับความโฉดชั่วในจิตใจของมนุษย์ ความเห็นแก่ตัวเพื่ออยู่รอดโดยขาดความรู้สึกผิดชอบ และที่สุดๆคือ หนังทำเราแทบช็อกเมื่อถึงฉากจบของเรื่อง มันพรากความหวัง ความฝัน ความดีงามที่เรามีไปพร้อมๆกับตัวหนังสือ end credit ที่ค่อยๆแจ่มชัดขึ้นมา(ความคิดที่ว่า ตายไปเสียยังดีกว่า เป็นเรื่องจริงเสียด้วย) ผมว่าเรื่องนี้เลวร้ายกว่าสองเรื่องแรกอีกนะครับ