วันอาทิตย์ที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

The Happening : ธรรมชาติวิปลาส


หลังจากที่เอ็ม ไนท์ ชยามาลานค้นพบว่าตนเองสามารถกระตุ้นความอยากได้ใคร่รู้ของผู้คนทั่วไป โดยสร้างหนังชนิดที่เรียกว่า เผยให้เห็นข้อมูลแต่น้อย ค่อยๆเพิ่มระดับความตรึงเครียดทั้งทางด้านภาพและด้านเสียงประกอบ และนำคนดูเข้าสู่ฉากเฉลยชวนช็อก มันอาจได้ผลในระยะแรกๆ(ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ ภาพยนตร์เรื่อง the sixth sense) มันอาจปูทางให้ระยะหลัง ชยามาลานจึงมุ่งหน้าสร้างหนังในแนวทางเดียวกันมาโดยตลอด ไล่เรียงจาก Unbreakable, Sings, The village, Lady in water บางเรื่องอาจทำเงินและได้รับคำชมจากนักวิจารณ์(นักวิจารณ์หลายต่อหลายคนมักให้คำวิจารณ์แบบ”ก้ำกึ่ง”) ในขณะที่บางเรื่องอาจโดนสวดยับเยิน

เมื่อภาพยนตร์เรื่องล่าสุด The Happening เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ลอกสูตรแบบตามขนบเดิมของเขา กล่าวคือ หนังโดยส่วนใหญ่ของชยามาลาน จะกล่าวถึงวิกฤติศรัทธาของตัวละครหลักหรือกลุ่มคนหลักของเรื่อง โดยมีตัวกระตุ้นเป็นสิ่งลึกลับชวนสงสัยเหนือธรรมชาติ? เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติในรูปแบบต่างกัน ทางออกของตัวละครเหล่านั้นคือสิ่งที่เราคนดูต้องหาคำตอบกันเอาเอง

ช่วงเครดิตต้นเรื่องท้องฟ้าสีสดใสเริ่มเปลี่ยนสภาพกลายเป็นสีดำหม่นมืด มันอาจแสดงถึงเรื่องราวที่กำลังดำเนินไปอย่างผิดปกติ ทั้งจากสภาพแสงที่มืดหม่น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของก้อนเมฆ ไม่ช้าเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่อย่างไร้เหตุผลก็เกิดขึ้น ณ เซ็นทรัล พาร์ค กลางกรุง แน่นอน มันเป็นวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วน่าขนลุก แต่อะไรล่ะที่เป็นสาเหตุ

จากการให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวคร่าวๆของชยามาลาน(เท่าที่จะเปิดเผยได้) The happening คือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมหันตภัยทางธรรมชาติในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง ชยามลานกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ธรรมชาติจะเอาคืนเราบ้าง”


ในขณะที่เอลเลียต มัวร์ (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) กำลังสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และฝึกตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการอพยพอย่างไร้ร่องรอยของผึ้งจำนวนมาก ข่าวสาร”วิกฤติการณ์การฆ่าตัวตายหมู่” ก็แพร่สะพัดเข้ามาในโรงเรียน โดยอาจารย์ใหญ่อธิบายคร่าวๆว่า อาการผิดปกติจะเริ่มต้นจากการสูดดมเอาสารพิษเข้าร่างกาย จากนั้นจะมีอาการพูดจาวกวน บังคับคนเองไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด โรงเรียนปิดทำการ เอลเลียตและจูเลี่ยน(จอห์น เลอกุยซาโม)ต้องอพยพครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วย อัลมา มัวร์(โซอี้ เดสชาเนล)ภรรยาที่อยู่ในระยะระหองระแหงของเอลเลียต และเจส(แอชลิน ซานเชส)ลูกสาวคนเดียวของจูเลี่ยน ไปยังเมืองชนบทที่ปลอดภัยก่อนจะถูก”มหันตภัยทางอากาศ”กลืนกินและเสียชีวิตในที่สุด


สมมติฐานอันหลากหลายถูกตั้งผ่านคำพูดของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายปล่อยแก๊สพิษ สารเคมีจากนิวเคลียร์รั่วไหล จนไปถึงต้นไม้ปล่อยสารพิษ มันอาจไม่ใช่สาระสำคัญอะไรหากเราอยู่ในฐานะของ”เหยื่อ”ที่ถูกคุกคามจาก”สิ่ง”ที่เราไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าเราทราบเหตุแห่งปัญหาแล้วเราก็จะสามารถหาทางแก้ปัญหาอย่างตรงจุดที่สุด เอลเลียตก็เช่นกัน เขาพยายามใช้กระบวนการคิด(ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์) เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ผลลัพธ์อันน่าสะพรึงก็คือ ต้นไม้นั่นเองที่เป็นผู้คร่าชีวิตมนุษย์โดยการปล่อยสารพิษสู่อากาศ

หนังพยายามแทรกลักษณะความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในขณะที่มนุษย์สามารถแสดงพฤติกรรมได้อย่างอิสระ การเดิน การวิ่ง เรื่อยไปจนถึงการจัดการกับปัญหา หรือการโต้ตอบเมื่อถูกคุกคามจากสิ่งรอบตัว ในทางกลับกัน ต้นไม้เองก็ไร้อิสระจากพฤติกรรมเหล่านั้น(ต้นไม้ไม่สามารถขอร้อง หลีกหนี หรือป้องกันตอบโต้เมื่ออันตรายมาถึงได้) หากมนุษย์ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ ไม่ว่าจะนำไม้เหล่านั้นไปทำอะไรก็ตาม ต้นไม้ก็ไม่สามารถลุกขึ้นป้องกันตัวเองได้ เหตุที่สารพิษของต้นไม้มีผลโดยตรงต่อตัวมนุษย์โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว อาจเป็นนัยยะสำคัญที่บ่งบอกถึง การเป็นผู้ถูกกระทำโดยปราศจากเงื่อนไขดูบ้าง เราจะได้พบเห็นกลุ่มคนไม่สามารบังคับตนเองได้ จนกระทั่งตัวแข็งเกร็งและฆ่าตัวตายในที่สุด ในขณะที่ต้นไม้เองก็ดูจะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ในหลายครั้งชยามาลานตัดภาพสลับระหว่างคนที่แน่นิ่งกับต้นไม้ที่กิ่งไม้ไหวอย่างร่าเริง (คล้ายการพูดคุยหรือแม้กระทั่งออกคำสั่ง) โดยมีลมเป็นสิ่งช่วยเหลือ เราจะรู้สึกอึดอัดเมื่อเราไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระเหมือนเดิม และยิ่งไปกว่านั้น เราไม่สามารถปกป้องตนเองได้จากการถูกคุกคามโดยสิ่งมีชีวิตอื่น(ในที่นี้คือต้นไม้)
สภาวะการที่มนุษย์ถูกคุกคามยังถูกแสดงให้เห็นในหลายๆฉาก เช่นตอนที่กลุ่มของเอลเลียตประกอบไปด้วย เอลเลียต, อัลม่า, เจส, จอชและโจอี้ สองเด็กหนุ่มที่พบเจอขณะหนีสารพิษมาด้วยกัน กลุ่มของพวกเขาเข้าไปขออาหารจากบ้านหลังหนึ่ง เมื่อเจ้าของบ้านไม่ยอมต้อนรับขับสู้และขับไล่เป็นของแถม จอชและโจอี้ได้แสดงทีท่าโมโหตามประสาวัยรุ่น ด้วยการสบถ การถีบประตู พังหน้าต่าง และทั้งสองจบลงด้วยการถูกยิงในระยะเผาขนจากปืนที่เล็งมาจากเจ้าของบ้านโดยปราศจากความเห็นใจ มันอาจแสดงถึงความเถื่อนดิบ เห็นแก่ตัวของมนุษย์เมื่ออยู่ในสภาวะถูกคุกคาม และแน่นอนมันเป็นการป้องกันตัวที่มนุษย์สามารถทำได้


หากเจ้าของบ้านที่ไร้เมตตาแสดงถึงความเป็นมนุษย์ มิสซิส โจนส์( เบ๊ตตี้ บัคลี่)อาจแสดงถึงความเป็นธรรมชาติของต้นไม้ก็เป็นได้ เบ๊ตตี้เป็นหญิงชราที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว เมื่อเอลเลียต อัลม่าและเจสมาขอความช่วยเหลือ เธอเต็มใจเลี้ยงดูปูเสื่อ แม้บ้านของเธอจะไม่มีไฟฟ้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย(เปรียบได้กับธรรมชาติที่ไร้ซึ่งวัตถุหรือเทคโนโลยี) เธอเองยังอธิบายด้วยว่าตามผนังของบ้านจะมี”ท่อ”ซึ่งเชื่อมต่อกันทั้งหมด ทำให้สามารถสื่อสารผ่านห้องอื่นๆได้โดยไม่ต้องเห็นหน้าค่าตากัน(ในหนังมีอยู่หลายครั้งที่พูดถึง ต้นไม้สามารถสื่อสารกันได้ ตั้งแต่ต้นไม้ใหญ่จนกระทั่งต้นหญ้าเล็กๆ) ในขณะที่อัลม่ากำลังจะอธิบายว่าเธอหนีสิ่งใดมา หญิงชรากลับบอกโต้ตอบด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ ว่าเธอเองไม่อยากรับรู้เรื่องราวอื่นๆจากโลกภายนอก และในฉากสำคัญที่เจสกำลังเอื้อมมือหยิบคุ๊กกี้ที่อยู่ตรงหน้า และมิสซิสโจนส์เองก็ตีมือของเจสอย่างแรงและพูดว่า”อย่าหยิบจับสิ่งใดที่ไม่ใช่ของเธอ หรือจนกว่ามันจะเป็นของเธอแล้ว” หากคิดให้ถีถ้วนสักหน่อย มันแสดงถึงความไม่เคารพต่อสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่ของตน เราอาจเห็นพฤติกรรมแปลกๆของหญิงชรา เช่น การตะโกนด่าทอว่าพวกเอลเลียตจะมาลักขโมยของเธอ หรือเธอได้ยินเสียงกระซิบของพวกเขา หรือในตอนที่แอลเลียตเข้าไปพบกับ”ความไม่ปกติ”ของเธอ เธอโกรธและมีสีหน้าดุดัน แต่ไร้ซึ่งการตอบโต้ใดๆนอกจากเดินออกจากบ้านไป

มิสซิส โจนส์อาจเป็นตัวแทนของเหล่าต้นไม้ที่แม้จะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม(เธอกังวลเรื่องการถูกคุกคามจากคนภายนอก เธอยินยอมให้คุ๊กกี้ต่อเจสในฉากต่อมา หรือให้ที่พักพิงแก่พวกเอลเลียต) ธรรมชาติเองก็ให้ที่พึ่งพิงแก่มนุษย์ ให้ประโยชน์และต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้มากกว่าการนิ่งเฉย และการที่มิสซิสโจนส์เป็นหญิงชราอายุมาก เราอาจเทียบได้กับธรรมชาติที่มีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์(พวกเอลเลียต) และพวกเขาเองที่ทำให้หญิงชราผู้นี้ต้องพบกับจุดจบน่าสยดสยอง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวอธิบายการดำรงอยู่คู่กันของมนุษย์กับธรรมชาติ ปรากฏการณ์”สารพิษ”จากต้นไม้ในช่วงต้นเรื่อง(หรือตลอดเรื่อง)ว่าเหตุใด การตอบโต้ของธรรมชาติจึงรุนแรงได้ขนาดนี้ มันเหมือนการอัดอั้นเก็บกดและระเบิดออกมาเพียงชั่ววูบ
มันคงเป็นการส่งสัญญาณเตือนตัวละครและเหล่าคนดู ว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตเราอาจได้พบแก้วใส่ไวน์ที่ทำจากของปลอม สิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากของปลอม หรือแม้กระทั่ง”ต้นไม้”สิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลานานก็ยังคงเป็นของปลอม นอกจากความรื่นรมย์ที่หาได้ยากยิ่งแล้ว จะมีประโยชน์อันใดหากเราได้แต่เพียงเฝ้าดู”สิ่งปลอม”เหล่านั้นโดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลย

ไม่เพียงแต่ข้อสงสัยเล็กๆจะผุดพรายขึ้นมาในหัวสมองขณะนั่งดู ว่าเหตุใด เอลเลียต,อัลม่าและเจสจึงไม่ตาย แม้พวกเขาจะสูดเอาอากาศที่(น่าจะ)ปนเปื้อนสารพิษเข้าไป หากเราสามารถสื่อสารกับต้นไม้ได้เช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาชาวไร่ที่เอลเลียตขอโดยสารมาด้วย(สามีชาวไร่บอกว่า เขารู้ว่าหากเราพูดคุยกับต้นไม้ ต้นไม้จะโตเร็วขึ้น ให้ผลผลิตมากขึ้น) ต้นไม้เองก็”น่าจะ”รับรู้ถึงความคิดของเราได้เช่นกัน ชยามาลานให้สัมภาษณ์ว่า”ต้นไม้จะทำร้ายผู้ที่มีความคิดเป็นลบ” ส่วนแนวคิดของเอลเลียตที่ว่าต้นไม้สามารถจับพลังงานของมนุษย์ได้ การแยกกลุ่มย่อยจะทำให้ต้นไม้ไม่สามารถจับพลังงานของเราได้ เมื่อผนวกเอาแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน สมมติฐานคร่าวๆก็คือ ต้นไม้จะตรวจจับพลังงานของมนุษย์ก่อนความคิด หากมนุษย์มีจำนวนมาก การตายแบบ”เหมารวม”ก็จะเกิดก่อน(ไม่ว่าจะมีความคิดเป็นแบบใดก็ตาม) ในขณะเดียวกัน หากมนุษย์อยู่ตามลำพังแต่มีความคิดเป็นลบ(เช่น มิสซิส โจนส์) ต้นไม้ก็สามารถปล่อยสารพิษทำร้ายได้เช่นกัน กลุ่มของเอลเลียตอาจรอดชีวิตจากเหตุผลทั้งสองก็เป็นได้


แน่นอน ไม่มีอะไรที่เราสามารถสรุปจบรวบรัดได้ราวกับจับวาง ความน่ากังขามากมายของธรรมชาติ สร้างความสงสัยใคร่รู้ ความท้าทายให้เราได้ศึกษาค้นคว้าและวิจัย แต่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านั้น สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักให้มากก็คือ เราควรให้ความเคารพธรรมชาติ เราสร้างความสมดุลย์เมื่อมีทั้งให้และรับ ธรรมชาติสร้างเราให้คงอยู่และเช่นเดียวกัน เราควรจะดำรงธรรมชาติให้อยู่คู่กันตลอดไปด้วย